รู้ทันการต้มตุ๋นทางการเงินแบบ Ponzi’s Scheme และ Pyramid Scheme
หลาย ๆ
ครั้งเราคงได้พบกับเพื่อนสนิทสักคนที่ชอบมาแนะนำการลงทุนที่ดีให้กับเรา
ทั้งการบอกว่านี่เป็นโอกาสที่จะสร้างอนาคตให้ตัวเอง
หรือแม้แต่บอกว่าต้องการแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับเรา
และหลายครั้งอีกเช่นกันที่เรามักจะเผลอเชื่อใจคนสนิทและลงทุนไปกับการลงทุนที่ “ดูท่าทาง”
จะไปได้สวย บางธุรกิจนั้นดูดีและน่าเชื่อถือจริง ๆ แถมยังมีคนดัง
ผู้เชี่ยวชาญร่วมลงทุนในโครงการนี้ไปอีกตั้งเยอะ ในเมื่อคนที่มีความรู้มากกว่าเรายังลงทุนไปกับโครงการนี้
แล้วทำไมเราถึงไม่ลงทุนตามเขาไป ดูยังไงโอกาสกำไรก็เห็นอยู่ชัด ๆ
….ซึ่งทุกครั้งการต้มตุ๋นทางการเงินเองก็มีจุดประสงค์ให้เราเชื่อเช่นนั้นจริง
ๆ เพื่อจะทำการหลอกลวงเงินจากผู้ลงทุนจำนวนมากมาย
ก่อนที่จะเชิดเงินหายไปอย่างไร้ร่องรอย ทิ้งไว้เพียงคราบน้ำตา (กับความซวยและหนี้)
ของนักลงทุนที่ไม่ใส่ใจกับการลงทุนของตนเอง โดยการต้มตุ๋นเหล่านี้หลายครั้งสามารถลอยนวลอยู่ได้นับสิบปี
และกวาดเงินไปได้กลายพันล้านเลยทีเดียว วันนี้จะขอเล่าถึงการต้มตุ๋นทางการเงินรูปแบบที่เคยส่งผลกระทบต่อผู้คนมากที่สุดรูปแบบหนึ่งในประวัติศาสตร์
ซึ่งก็คือ กลยุทธ์ต้มตุ๋นแบบพอนซี (Ponzi’s Scheme) และแบบปิรามิด
(Pyramid Scheme) นั่นเอง
กลยุทธ์ต้มตุ๋นแบบ Ponzi’s Scheme คืออะไร?
หากต้องการพูดแบบสั้น
ๆ กลยุทธ์แบบ Ponzi
นั้นมีรูปแบบการทำงานที่ง่ายดายมาก นั่นคือ
ผู้ทำการต้มตุ๋นจะหลอกนักลงทุนด้วยผลประโยชน์หรือเงินปันผลที่ดูดีเกินจริง
เพื่อหลอกให้มีคนลงทุนจำนวนมาก
จากนั้นจึงเอาเงินลงทุนที่ได้จากสมาชิกใหม่มาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกรุ่นเก่าไปเรื่อย
ๆ นั่นเอง โดยธุรกิจประเภทนี้จัดเป็นการต้มตุ๋น
เนื่องจากเงินลงทุนนั้นไม่ได้นำไปลงทุนจริง ๆ แต่เป็นเพียงการรวมเงินไว้
และจ่ายเงินปันผลเท่านั้น เมื่อการต้มตุ๋นประเภทนี้สิ้นสุดลง
ไม่ว่าจะด้วยการตรวจสอบ หรือจากการไม่มีผู้ลงทุนรายใหม่
(โดนหลอกกันเรียบร้อยทั้งบ้านทั้งเมือง) ก็ตาม จะพบว่ามีผู้ที่ได้กำไรจำนวนน้อย
(สมาชิกรุ่นแรก) และมีผู้ที่ซวย (แมงเม่าที่เข้ามาทีหลัง) จำนวนมาก
ซึ่งชื่อของการต้มตุ๋นนี้ก็มาจากชื่อของนายชาร์ล พอนซี (Charles Ponzi) นักต้มตุ๋นชาวอิตาเลียน-อเมริกัน
ผู้นำกลยุทธ์นี้มาใช้สร้างความล่มจมให้ผู้คนจำนวนมากในอเมริกาในช่วงปี 1920
นั่นเอง
นาย Charles Ponzi เป็นใคร?
ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 1903
ชายอิตาเลียนคนหนึ่งได้เดินทางมาถึงอเมริกาเพื่อหางานทำและชีวิตใหม่
โดยการมาถึงของชายผู้นี้ไม่มีสิ่งใดติดตัว นอกจากเงินเพียง 2.5 ดอลลาร์เท่านั้น เนื่องจากการพนันในการเดินเรือได้ดูดเอาเงินเก็บของเขาไปจนหมด
(การพนันไม่ทำให้ใครรวย ยกเว้นเจ้ามือ?) เป็นเวลาหลายปีที่ชายผู้นี้ต้องทำงานต่าง
ๆ ในเมือง ทั้งการเป็นเด็กล้างจาน
ได้เลื่อนชั้นเป็นบริกร
แต่ก็ถูกไล่ออกอย่างรวดเร็วเพราะไปโกงเงินทอนลูกค้าและขโมยของ
ทำงานในธนาคารที่มอนทรีออล แต่ก็ก่อเรื่องปลอมเช็ค กลับมาที่อเมริกา
แต่แล้วก็ไปก่อเรื่องลักลอบนำเข้าแรงงานอิตาลีอีก
จนต้องไปนอนในมุ้งสายบัวอยู่หลายครั้ง
นายชาร์ล พอนซี
ในเวลาต่อมาเขาก็ได้กลับมาที่บอสตัน
และได้แต่งงานกับหญิงผู้หนึ่งชื่อโรส มาเรีย ผู้ได้ออกทุนทำธุรกิจให้กับเขา
แต่ก็ล่มจมในเวลาไม่นานนัก หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ เขาก็ได้รับ
จดหมายจากบริษัทสเปน ซึ่งในซองนั้นคือ “วิมัยบัตร” (International Reply Coupon - IRC) นั่นเอง จากการตรวจสอบข้อมูลเล็กน้อย เขาก็มองเห็นช่องโหว่ของสินค้าชนิดนี้
ที่อาจจะทำเงินให้กับเขาได้
การต้มตุ๋นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในอเมริกา
กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว….
วิมัยบัตร (IRC) คืออะไร
ในช่วงปี 1920 นั้นโลกยังไม่มีอินเตอร์เน็ต
หรือแม้แต่โทรศัพท์อย่างในปัจจุบัน วิธีการติดต่อที่เป็นที่นิยมที่สุดก็คือการส่งจดหมาย
แต่การส่งจดหมายไปหาญาติพี่น้องหรือเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศนั้นก็อาจจะเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ตอบได้เช่นกัน
เพราะการตอบจดหมายก็จำเป็นต้องใช้เงิน (ซึ่งอาจจะแพงกว่า ขึ้นอยู่กับประเทศ)
ในการตอบกลับ ดังนั้นสินค้าที่มีชื่อว่า International Reply Coupon หรือ IRC จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1906 โดยสินค้าชนิดนี้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับจดหมายข้ามประเทศทั่วไป
เพียงแต่มูลค่าของคูปองนี้ได้รวม “ค่าส่งจดหมายตอบกลับมายังผู้ส่ง” ไว้แล้ว
ทำให้ผู้รับจดหมายสามารถส่งจดหมายตอบกลับได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนั่นเอง
วิมัยบัตร (International Reply Coupon – IRC)
จุดบอดของสินค้าชนิดนี้ก็คือ
ในขณะที่นายชาร์ลค้นพบนั้น คูปอง IRC ในอิตาลีมีราคาถูกกว่าในอเมริกามาก
เนื่องมาจากเงินเฟ้อที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่ 1 นายชาร์ลจึงออกแบบธุรกิจลงทุนชนิดหนึ่งขึ้น
โดยเขาจะซื้อคูปอง IRC ในประเทศที่มีราคาถูก
และนำกลับมาขายในอเมริกาในราคาแพงกว่า และส่วนต่างนั้นก็คือกำไร ซึ่งเขาบอกว่าส่วนต่างนั้นทำให้มีกำไรมากถึง
400% อย่างไรก็ตาม
ถึงแม้ว่าในทางทฤษฎีแล้วการทำธุรกิจรูปแบบนี้สามารถสร้างกำไรได้
แต่ในการทำจริงนั้นไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
รวมถึงระยะเวลาในการขนส่งนั้นทำให้ไม่สามารถทำจริงได้
แต่ถึงแม้จะทำจริงไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่นายชาร์ลต้องการไม่ใช่ธุรกิจ ….แต่เป็นการหลอกลวง แค่มัน “เป็นไปได้” ก็มากเกินพอ
จุดเริ่มต้นของ “การลงทุน”
หลังจากการค้นพบ
IRC และหนทางทำกำไรจากมันได้ไม่นาน
นายชาร์ลก็เริ่มต้นการลงุทนของเขา
โดยเริ่มจากการชักชวนเพื่อนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจที่ “กำลังเกิดใหม่” โดยสัญญาว่าจะเพิ่มเงินลงทุนให้
50% ภายใน 3 เดือน ซึ่งผู้ลงทุนรุ่นแรกก็ได้เงินตามที่สัญญาไว้
คือได้กำไรถึง 750 ดอลลาร์ จากเงินลงทุน 1,250 ดอลลาร์
จากนั้นไม่นานเขาก็ตั้งบริษัทของตัวเอง
และมีนักลงทุนเพิ่มขึ้นไม่ขาดสาย และยังได้จ้างนายหน้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย
โดยมีการจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้อย่างงาม
ภายในเวลาไม่ถึงปีก็มีเงินลงทุนในธุรกิจของนายชาร์ลนับล้านดอลลาร์
นักลงทุนมากมายนำเงินเก็บทั้งชีวิตเข้าลงทุน
บางคนถึงกับจำนองบ้านเพื่อนำเงินมาลงทุนเลยทีเดียว
นอกจากนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ถอนเงินออกมา
แต่นำเงินที่ได้เพิ่มมานั้นลงทุนกลับเข้าไปอีก จึงเห็นได้ว่าในความเป็นจริงแล้วเงินในระบบแทบจะไม่ได้ถูกจ่ายเป็นเงินปันผลเลย
และในกรณีที่มีคนถอนเงินออก
นายชาร์ลก็เพียงแต่นำเงินจากนักลงทุนหน้าใหม่จ่ายเป็นเงินปันผลให้ไปเท่านั้น
โดยไม่จำเป็นต้องทำธุรกิจใด ๆ เลย
อย่างไรก็ตาม
นายชาร์ลก็ไม่ใช่นักต้มตุ๋นที่รอบคอบมากนัก เขาใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟู่ฟ่า
ทั้งการซื้อบ้านในเล็กซิงตัน พร้อมเครื่องปรับอากาศและสระว่ายน้ำ (ซึ่ง “โคตรหรู”
ในสมัยนั้น และอาจจะสมัยนี้ด้วย)
และออกเงินพาแม่ของเขามายังอเมริกาอย่างหรูหราที่สุด
แม้ว่าจะเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน
จุดจบของ “การต้มตุ๋น”
แน่นอนว่าธุรกิจที่
“ผิดธรรมชาติ” ของนายชาร์ลทำให้มีผู้ที่ระแวงเขาเป็นจำนวนมาก
นักเขียนในบอสตันคนหนึ่งได้เขียนถึงนายชาร์ลว่าเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะสามารถปันผลได้ในเวลาที่รวดเร็วขนาดนั้น
ซึ่งก็ทำให้นักเขียนผู้นี้ถูกฟ้อง และเสียค่าปรับถึง 500,000 ดอลลาร์ให้นายชาร์ล
แต่ก็ได้ทำให้นักลงทุนบางคนถอนตัวไป
แม้ว่าหลังจากนั้นไม่นานจะมีการเขียนบทความหนึ่งลงในหนังสือพิมพ์ Boston
Post โดยกล่าวว่าธุรกิจของนายชาร์ลนั้นจ่ายเงินปันผลได้ถึง 50%
ในเวลาเพียง 45 วัน
ในขณะที่ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยได้เพียง 5% ต่อปีเท่านั้น หนึ่งวันหลังจากบทความถูกตีพิมพ์
ก็มีนักลงทุนนับพันต้องการลงทุนในธุรกิจของนายชาร์ล
แต่ในวันที่บทความถูกตีพิมพ์นั้น
นายชาร์ลก็ต้องเข้าพบกับเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลที่ต้องการจะตรวจสอบบัญชี
ซึ่งเขาก็สามารถหลบเลี่ยงการตรวจสอบไปได้โดยการเสนอว่าจะหยุดรับเงินลงทุนเพิ่มในระหว่างที่มีการตรวจสอบ
ทำให้การตรวจสอบชะงักไปพักหนึ่ง เนื่องจากเขาไม่เคยบันทึกบัญชีเอาไว้
(เพราะเป็นการต้มตุ๋น)
อย่างไรก็ตาม
หลังจากนั้นไม่นานทางหนังสือพิมพ์ก็เริ่มขุดคุ้ยเรื่องการทำธุรกิจนี้
โดยมีการว่าจ้างนักวิเคราะห์ด้านการเงิน Clarence Barron โดยได้กล่าวว่า
การทำธุรกิจของนายชาร์ลนั้นจ่ายเงินปันผลจำนวนมากภายในเวลาที่เร็วอย่างเหลือเชื่อ
แต่ตัวนายชาร์ลเองนั้นกลับไม่ลงทุนในธุรกิจของตนเอง และการลงดาบขั้นสุดท้ายก็คือ
การกล่าวว่า หากธุรกิจของนายชาร์ลทำงานอยู่จริงตามที่อ้าง จะต้องมีคูปอง IRC
ถูกใช้อยู่ในปัจจุบันถึง 160 ล้านใบ
ในขณะที่มีการใช้จริงเพียง 27,000 ใบเท่านั้น
การวิเคราะห์นี้ทำให้เกิดความแตกตื่นขึ้นอย่างมาก
โดยนายชาร์ลต้องจ่ายเงินให้นักลงทุนถึง 2 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเพียง
3 วันเท่านั้น
หลังจากนั้นธุรกิจก็ถูกตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
โดยเจ้าหน้าที่จากรัฐแมสซาชูเซตต์ต้องตรวจสอบบัญชีของบริษัทอย่างยากลำบาก
เพราะบัญชีของบริษัทไม่มีอะไรเลยนอกจากชื่อของนักลงทุน (เพราะไม่ได้ทำธุรกิจจริง) ในระหว่างนั้นนายชาร์ลก็ได้จ้างเอเย่นต์ผู้หนึ่งเพื่อปิดข่าว
คือนาย Mcmasters แต่การว่าจ้างนี้กลับทำให้เรื่องเลวร้ายยิ่งขึ้น
เพราะนาย Mcmasters กลับยิ่งสงสัยในตัวธุรกิจนี้ ในปลายเดือนกรกฎาคมปี 1920 เขาก็ได้ค้นพบเอกสารหลายฉบับที่บ่งชี้ว่าธุรกิจของนายชาร์ลนั้นน่าจะเป็นเพียงการนำเงินของคนหนึ่งมาจ่ายให้กับนักลงทุนอีกคนหนึ่งเท่านั้น
ซึ่งเรื่องอื้อฉาวนี้ก็นำไปสู่การตรวจสอบหนี้สิน บัญชีธนาคารของนายชาร์ล
และจุดสิ้นสุดของการต้มตุ๋นครั้งนี้ในวันที่ 11 สิงหาคม 1920
นั่นเอง ซึ่งจากการวิเคราะห์
พบว่าการต้มตุ๋นครั้งนี้หลอกเงินจากนักลงทุนไปได้ถึง 20 ล้านดอลลาร์
โดยสามารถเทียบเป็นเงินในปัจจุบันได้ประมาณ 225 ล้านดอลลาร์
แม้จะดูเหมือนว่าการต้มตุ๋นของนายชาร์ลเมื่อปี 1920 นั้นน่าจะดูออกได้ง่าย
เพราะการจ่ายเงินที่เกินจริง
หรือแม้แต่การใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายของเจ้าตัวก็ตาม
แต่ก็มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก
แล้วถ้ามีการทำให้แนบเนียนยิ่งขึ้นล่ะจะเป็นอย่างไร?
ต่อไปจะขอแนะนำนักต้มตุ๋นอีกคนหนึ่งที่ใช้กลยุทธ์แบบเดียวกันนี้
แต่สามารถทำเงินได้มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ติด
และที่สำคัญยังเป็นการต้มตุ๋นในยุคปัจจุบันเสียด้วย โดยการต้มตุ๋นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นี้ถูกเปิดเผยในปี
2008 รวมระยะเวลาในการต้มตุ๋นทั้งหมดกว่า
13 ปี และเป็นเรื่องราวตามหน้าหนังสือพิมพ์มากมาย มิหนำซ้ำการต้มตุ๋นครั้งนี้ยังถูกเปิดเผยเพราะผู้ก่อการสารภาพเองอีกต่างหาก
โดยที่หน่วยงานของอเมริกาไม่สามารถตามกลิ่นของเขาได้เลย ชื่อของนักต้มตุ๋นฝีมือเยี่ยมผู้นี้คือ
เบอร์นาร์ด เมดอฟฟ์ (Bernard Madoff)
การต้มตุ๋นครั้งประวัติศาสตร์ของนายเบอร์นาร์ด
บริษัท Bernard Securities ถูกก่อตั้งขึ้นในปี
1960 โดยเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทซื้อขายหุ้นราคาถูก
ซึ่งในเวลาต่อมามีการแข่งขันกับบริษัทที่เป็นสมาชิกของตลาดหุ้นนิวยอร์ค
จึงมีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน และระบบนี้ก็มีการพัฒนาต่อยอดมาจนกลายเป็น NASDAQ
(ตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอเมริกา) ซึ่งบริษัท Bernard
Securities ก็เป็นบริษัทหนึ่งในตลาดหุ้น NASDAQ นี้ด้วย
ในการต้มตุ๋นของนายเบอร์นาร์ดนี้มีกลยุทธ์ที่ซับซ้อนมากมาย
และแนบเนียนกว่ามาก โดยในการลงทุนนั้นผู้ลงทุนจะไม่ได้เงินปันผลที่มากและรวดเร็วเกินจริงอย่างนายชาร์ล
แต่เป็นเงินปันผลในระดับที่ไม่ผิดธรรมชาติ คือประมาณ 10% ต่อปี ซึ่งเขาจงใจให้เงินปันผลในระดับที่ใกล้เคียงกับ S&P 500 เพื่อปกปิดร่องรอยของเขานั่นเอง
(S&P 500 คือรายชื่อบริษัทสำคัญในอเมริกา 500
บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกา มีลักษณะคล้าย Set 50 และ Set 100 ในไทย) และยังใช้เทคนิคมากมายเพื่อปกปิดร่องรอยเพิ่มเติม
เช่น เขาจะขายหุ้นทั้งหมด
เพื่อให้มีการรายงานเฉพาะจำนวนเงินในธุรกิจไปยังหน่วยงานรัฐ
นักลงทุนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการลงทุนได้ด้วยตัวเอง
แต่จะได้รับจดหมายแจ้งข้อมูลทางการเงินและเงินปันผลเท่านั้น นอกจากนี้
เขายังเลือกเป้าหมายอย่างรัดกุม โดยนักลงทุนนั้นมีทั้งกองทุน มูลนิธิ ธนาคาร
นักลงทุนทั่วไป รวมไปจนถึงคนดังอย่างเควิน เบคอน และสตีเวน สปีลเบิร์ก แต่จุดหนึ่งที่เหมือนกัน
คือเป็นนักลงทุนชั้นดี จากการที่เขาเลือกเป้าหมายอย่างเข้มงวด ทำให้นักลงทุนไม่ค่อยอยากจะถอนเงินออกจากระบบของเขา เพราะกลัวว่าจะกลับเข้าไปใหม่ไม่ได้อีก
นายเบอร์นาร์ด เมดอฟฟ์
นายเบอร์นาร์ดสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจของเขาได้โดยการเตรียมเงินให้ทันที
เมื่อลูกค้าของเขาต้องการถอนเงิน
ซึ่งเมื่อมีการถอนเงินได้ตามที่ต้องการตลอดเวลา
แถมเงินปันผลที่ได้ก็ไม่ผิดปกติ ลูกค้าของเขาจึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ให้ระแวงเลย
แม้จะมีข้อสงสัยว่าธุรกิจของเขาไม่น่าจะจ่ายเงินปันผลได้สูงเท่าที่เขาทำ
แต่หน่วยงานตรวจสอบของสหรัฐ (SEC) ก็ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง นอกจากนี้
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นที่ไว้วางใจก็คือ ตัวเขาเองที่เป็นนักการเงินอาวุโสที่มีฝีมือมาก
รวมถึงเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมก่อตั้ง NASDAQ นั่นเอง
จุดเด่นที่สุดในการต้มตุ๋นของเขา
คือการก่อตั้งบริษัทในปี 1960 โดยก่อนหน้านั้นมีการทำงานอยู่จริง
จนในการไต่สวนคดีเมื่อปี 2008 เขาจึงสารภาพว่าบริษัทของเขาไม่ได้ซื้อขายหุ้นจริง ๆ
มาตั้งแต่ช่วงปี 1990 แล้ว แต่ชื่อเสียงที่มีมานาน
รวมถึงการปฏิบัติงานจริงที่เคยมี ก็ทำให้หลุดพ้นจากข้อสงสัยได้เป็นอย่างดี
นักลงทุนและหน่วยงานตรวจสอบต้องคิดไม่ถึงแน่ ว่าบริษัทที่ตั้งมาแล้วกว่า 30 ปี
อยู่ ๆ ก็จะเลิกทำงาน ไปทำการต้มตุ๋นแทน
ซึ่งจุดนี้แตกต่างจากการต้มตุ๋นแบบพอนซีที่มีมาก่อน
คือจากแบบเดิมที่ชักชวนให้ทำการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีจริง ธุรกิจของนายมาดอฟนั้น
“มีจริง” แต่ไม่ได้ทำงานจริง (อีกต่อไป) แม้ว่าจะมีจุดผิดสังเกตอยู่บ้าง
เช่นการจ่ายเงินปันผลคงที่อย่างผิดปกติ
ในขณะที่เงินปันผลตามปกติจะเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเงินในตลาด
แต่ก็สามารถรอดพ้นจากหูตาของเจ้าหน้าที่รัฐไปได้
แต่จุดจบของการต้มตุ๋นครั้งนี้ก็มาถึงในปี
2008
เมื่อเกิดปัญหาทางการเงินทั่วประเทศในอเมริกา ภาวะถดถอยของตลาดการเงิน
ทำให้นักลงทุนต้องการถอนเงินออกจากธุรกิจของเขาถึง 7พันล้านดอลลาร์
เขาจึงจำเป็นต้องหานักลงทุนรายใหม่เพื่อนำเงินมาจ่าย
ซึ่งรวมถึงเพื่อนเก่าของเขาอย่าง Carl J. Shapiro ด้วย
แต่ถึงแม้จะพยายามอย่างมาก
ธุรกิจต้มตุ๋นของเขาก็มาถึงจุดจบเนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาจ่ายนักลงทุนรายเก่าได้นั่นเอง
ซึ่งเมื่อเขาเห็นจุดจบ เขาก็ทิ้งทวนเป็นครั้งสุดท้าย
ด้วยการจ่ายโบนัสให้พนักงานในบริษัทของเขาถึง 170
ล้านดอลลาร์ จากเงิน 200 ล้านดอลลาร์ที่บริษัทมีอยู่ในขณะนั้น
ทำให้ลูกชายทั้ง 2 คนของเขาต้องถามว่า ทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่มีเงินจะจ่ายให้นักลงทุน
ทำไมถึงสั่งจ่ายโบนัสจำนวนมหาศาลอย่างนี้ และทำให้ตัวนายเบอร์นาร์ดสารภาพกับลูกชายของเขาเอง
ว่าทั้งหมดเป็นเพียง “การโกหกครั้งใหญ่”
และนายเบอร์นาร์ดก็ถูกจับกุมในปีนั้น
โดยผู้ที่แจ้งความก็คือลูกชายทั้ง 2 คนของเขานั่นเอง ประเมินความเสียหายในการต้มตุ๋นของเขาแล้ว
มีมูลค่าถึง 65,000 ล้านดอลลาร์ มีผู้เสียหายเป็นมูลนิธิ ธนาคาร กองทุนจากทั่วโลกมากมาย มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยกว่า
3 รายฆ่าตัวตาย รวมถึงลูกชายคนโตของเขาด้วย จัดเป็นการต้มตุ๋นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
และเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกาอีกด้วย
ส่วนตัวนายเบอร์นาร์ดนั้นถูกพิพากษาจำคุก 150 ปี
มากที่สุดเท่าที่กฏหมายของสหรัฐกำหนดไว้
จากกรณีของนายเบอร์นาร์ด
จะเห็นได้ว่าการต้มตุ๋นรูปแบบพอนซีนั้นไม่ได้จำกัดวงอยู่เพียงยุคเก่าเท่านั้น
แม้แต่ในตลาดหุ้นหรือยุคอินเตอร์เน็ตที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดายก็ยังไม่รอดพ้นไปได้เช่นกัน หากไม่เกิดภาวะถดถอยทางการเงินจนมีการถอนเงินเป็นจำนวนมาก
การต้มตุ๋นครั้งนี้อาจไม่ถูกเปิดเผยเลยก็เป็นได้
ต่อไปจะขอเล่าถึงกลยุทธ์แบบพอนซีที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยบ้าง
โดยคดีนี้มีผู้เสียหายนับหมื่นคน
และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการบัญญัติพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนปี
พ.ศ.2527 อีกด้วย ชื่อของคดีนี้คือ “คดีแม่ชม้อย” ที่มีการต้มตุ๋นในช่วงปี 2520 –
2528 นั่นเอง
คดีแม่ชม้อยในตำนาน
แม่ชม้อย
หรือนางชม้อย ทิพย์โส ได้เริ่มต้นการต้มตุ๋นครั้งนี้ในปี 2520
โดยตัวแม่ชม้อยนั้นได้รับการชักชวนจากเพื่อนที่ทำการค้าน้ำมันอยู่ก่อน คือ นายประสิทธิ์ จิตต์ที่พึ่ง
ให้ร่วมลงทุนค้าน้ำมัน ซึ่งเมื่อทำแล้วได้กำไรจริง แม่ชม้อยจึงเริ่มชักชวนผู้อื่นให้เข้ามาทำธุรกิจนี้ด้วย
แม่ชม้อยได้จัดตั้งบริษัทขึ้นมา มีชื่อว่า “ปิโตรเลียม แอนด์ มารีน เซอร์วิส
จำกัด” โดยหน้าฉากกล่าวว่าทำธุรกิจการค้าน้ำมันทุกชนิด ทั้งในและนอกประเทศ
นางชม้อย
ทิพย์โส – แม่ชม้อย
แม่ชม้อยได้เริ่มชักชวนให้ผู้คนร่วมลงทุนในธุรกิจนี้
โดยรับกู้ยืมเงินในลักษณะคิดเป็นคันรถบรรทุก คันละ 160,500 บาท และจะได้กำไร
12,000 บาทต่อเดือน (6.5%) เมื่อครบปี
ผู้ลงทุนจะได้กำไรถึง 78% ของเงินต้น ในเดือนธันวาคมของทุกปีจะหักกำไรไว้ร้อยละ 4
เพื่อจ่ายค่าภาษีการค้า และยังมีการคิดเงินเป็นล้อสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยอีกด้วย
โดยแบ่งเป็น 1 ใน 4 ของราคา 1 คันรถบรรทุก แม่ชม้อยจ่ายเงินดอกเบี้ยอย่างตรงเวลา
และหากต้องการถอนก็สามารถถอนได้ ทำให้สามารถหลอกลวงได้อย่างแนบเนียน
นอกจากนี้ตัวแม่ชม้อยเองก็ยังทำงานในการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
จึงทำให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นไปอีก
ซึ่งในช่วงเวลาระหว่างการต้มตุ๋นนี้มีนักลงทุนถูกหลอกกว่าหมื่นราย
และมีเงินหมุนเวียนในระบบถึงกว่า 10,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม
การต้มตุ๋นครั้งนี้ก็มีจุดจบเช่นเดียวกับครั้งอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คือเริ่มต้นจากความผิดปกตินั่นเอง
ธุรกิจแม่ชม้อยถูกตรวจสอบโดยกรมสรรพากร และพบว่ามีบัญชีธนาคารอยู่ 2 บัญชี
คือบัญชีออมทรัพย์และกระแสรายวัน และได้ทำสัญญาเอาไว้ว่า
ให้โอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ไปยังบัญชีกระแสรายวัน
เมื่อมีการสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินออกจากบัญชีกระแสรายวัน
จากการตรวจสอบรายรับรายจ่ายเพิ่มเติมก็พบว่าตัวแม่ชม้อยนั้นไม่ได้ทำธุรกิจอะไรที่น่าจะทำให้จ่ายดอกเบี้ยได้ในอัตราสูงถึงขนาดนั้น
การที่แม่ชม้อยสามารถจ่ายได้ก็โดยการใช้กลยุทธ์แบบพอนซีนั่นเอง
โดยการนำเงินลงทุนจากนักลงทุนหน้าใหม่ไปจ่ายให้กับนักลงทุนเก่า และจุดจบก็มาถึงในรูปแบบมาตรฐาน
คือเมื่อไม่มีนักลงทุนหน้าใหม่ ก็จะไม่มีเงินดอกเบี้ยจะจ่าย
เมื่อเงินที่มีอยู่เดิมหมดก็จะไม่มีจ่ายอีกต่อไป
เมื่อมีการตรวจสอบ
นักลงทุนก็เริ่มระแวง ในช่วงปี 2527 – 2528 นั้นธุรกิจต้มตุ๋นนี้ก็จบสิ้นลง
เนื่องจากมีนักลงทุนต้องการถอนเงินเป็นจำนวนมาก
ทำให้แม่ชม้อยไม่สามารถจ่ายเงินได้ทัน จึงประกาศของดจ่ายเงินชั่วคราว
และหอบเงินที่ยังมีเหลือหลบหนีกลับบ้านเกิดของตน
ในที่สุดเมื่อนักลงทุนไม่ได้เงินคืนตามที่แม่ชม้อยสัญญา
จึงมีการร้องทุกข์ไปยังกองปราบปราม และนำไปสู่การขุดคุ้ย รวมถึงจับกุมนางชม้อยในที่สุด
รวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการต้มตุ๋นครั้งนี้มีมากถึง 4,000 ล้านบาท
ตัวนางชม้อยและพรรคพวกนั้นถูกพิพากษาจำคุก 20 ปี แต่ก็ได้รับการผ่อนผันโทษ
และออกจากคุกในปี 2536
จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์แบบพอนซีนั้น
จุดเด่นที่สุดคือ “สนับสนุนให้ลงทุน” โดยที่ผู้ลงทุนไม่ต้องทำอะไร
เพียงนำเงินมาฝากไว้ ก็จะได้เงินปันผลไปแบบสบาย ๆ
ซึ่งในการต้มตุ๋นแบบปิรามิดนั้นก็จะมีลักษณะคล้ายกันกับกลยุทธ์แบบพอนซี
แต่แตกต่างกันตรงผู้ที่ชักชวนให้เข้าทำธุรกิจ รวมถึงบทบาทของสมาชิกนั่นเอง
การต้มตุ๋นแบบปิรามิด (Pyramid
Scheme)
การต้มตุ๋นแบบปิรามิดนั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่มีการใช้งานค่อนข้างบ่อย
โดยลักษณะเด่นจะมีลักษณะคล้ายกับการขายตรงอย่างมาก โดยแบบปิรามิดนั้นจะมีด้วยกัน 2
ประเภท คือ
1.สมาชิกรุ่นแรกจะไปชักชวนให้สมาชิกใหม่ร่วมกันลงทุน
และให้สมาชิกใหม่นั้นไปหาสมาชิกอีกต่อหนึ่งไปเรื่อย ๆ
ในรูปแบบนี้จะเป็นเพียงการร่วมลงทุนเท่านั้น โดยไม่มีสินค้ามาขายแต่อย่างใด
เรียกว่า “ปิรามิดเปลือย” (Naked Pyramid)
2.สมาชิกรุ่นแรกจะได้เงินจากการขาย
“ชุดเริ่มต้น” (Starter kit) และได้เงินมากขึ้นเมื่อดาวน์ไลน์ขายชุดเริ่มต้นให้กับผู้อื่นต่อ
โดยผู้ชักชวนนั้นไม่จำเป็นต้องขายสินค้าเพื่อให้ได้กำไร
ซึ่งธุรกิจรูปแบบนี้มักจะเกิดขึ้นเพื่อขายสินค้าที่ไม่น่าสนใจ หรือได้กำไรน้อย
จึงต้องหารายได้หลักจากการขายชุดเริ่มต้นแทน
อย่างไรก็ตาม
ธุรกิจประเภทนี้ก็มักจะอยู่ได้ไม่นาน เมื่อทุก ๆ คนต้องการขายสินค้า
(ที่ไม่น่าสนใจ) ให้กับคนอื่น ๆ และไม่มีใครเหลือให้ชักชวนมาเป็นดาวน์ไลน์ได้อีก
ในความเป็นจริงแล้ว
การต้มตุ๋นแบบปิรามิดนั้นจะไม่สามารถทำกำไรได้เลย หากดาวน์ไลน์ชั้นล่างไม่ขาดทุน
ซึ่งจุดที่ผิดกฏหมายนั้นก็มาจากการทำธุรกิจที่ต้องมีคนจำนวนมากขาดทุน
เพื่อให้คนจำนวนน้อยได้กำไรนั่นเอง เพราะธุรกิจแบบปิรามิดจะไม่สามารถเติบโตได้ในระดับที่เพียงพอต่อการทำให้สมาชิกทั้งหมดได้กำไร
หากสมมติให้สมาชิก 1 คนต้องหาดาวน์ไลน์ให้ได้ 8 คน สมาชิกในชั้นที่ 8
จะต้องหาดาวน์ไลน์ถึง 1.5 ล้านคน และอีกเพียงไม่กี่ชั้นก็จะเกินจำนวนประชากรบนโลก
ซึ่งสมาชิกชั้นล่างนี้เองจะเป็นผู้ที่ขาดทุน เพื่อให้สมาชิกในชั้นบนได้กำไร
(ซื้อชุดเริ่มต้นไปแล้วแต่ไม่มีใครให้ขายต่อเพื่อเอากำไร)
ในการต้มตุ๋นแบบปิรามิดนั้นแม้จะมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับแบบพอนซี
คือต้องหาสมาชิกใหม่เพื่อให้สมาชิกรุ่นแรกมีกำไร แต่มีความแตกต่างกัน คือ
ในกลยุทธ์แบบพอนซีนั้นผู้ที่จะจัดหาสมาชิกใหม่คือเจ้าของบริษัทเพียงคนเดียว
ในขณะที่กลยุทธ์แบบปิรามิด สมาชิกแต่ละคนจะเป็นฝ่ายไปตามหาสมาชิกใหม่ด้วยตนเอง
จำนวนดาวน์ไลน์ที่จำเป็นต่อการต้มตุ๋นแบบปิรามิด
กรณีสมาชิก 1 คนหาดาวน์ไลน์ 6 คน
แล้วแตกต่างจากการขายตรง (MLM)
อย่างไร?
การขายตรง
(MLM
– Multi Level Marketing) คือ
รูปแบบการทำธุรกิจประเภทหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกลยุทธ์แบบปิรามิดมาก
โดยบริษัทในไทยที่เรารู้จักกันดีนั้นก็มี Amway และ Herbalife
เป็นต้น โดยบริษัทแรกที่ทำการตลาดรูปแบบนี้ก็คือ Amway นั่นเอง สมาชิกจะทำการขายสินค้าให้กับผู้อื่น รวมไปถึงชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกขายตรง
เพื่อให้ได้กำไร
หากดูเผิน
ๆ จะเห็นว่าดูคล้ายกับการต้มตุ๋น คือมีการหาดาวน์ไลน์
และสร้างกำไรจากการมีลูกทีมจำนวนมากได้ แต่ในปี 1979
ก็มีการประกาศว่าการทำธุรกิจรูปแบบนี้ไม่ผิดกฏหมายแต่อย่างใด
จึงทำให้มีบริษัทอื่นมากมายทำธุรกิจเลียนแบบ Amway ซึ่งจุดแตกต่างระหว่างการขายตรง กับการต้มตุ๋นแบบปิรามิดก็คือ
1.การขายตรงไม่ให้เงินแก่สมาชิก
เพียงเพราะหาสมาชิกใหม่ได้
2.การจะมีรายได้ในธุรกิจขายตรงได้
มีเพียงขายสินค้าให้กับผู้บริโภค หรือบริหารทีมขายเท่านั้น
โดยหัวหน้าทีมจะได้เปอร์เซ็นต์จากการขายของลูกทีมด้วย (ยังไงก็ต้องขายสินค้าถึงจะได้เงิน)
3.การขายตรงจะไม่มีการบังคับให้ซื้อชุดเริ่มต้นเพื่อเป็นสมาชิก
หรือต้องจ่ายเงินค่าสมาชิก
4.การขายตรงจะเน้นการขายสินค้า
ไม่ใช่การหาสมาชิกเพิ่ม
ในการธุรกิจรูปแบบนี้
สมาชิกชั้นล่างไม่จำเป็นต้องขาดทุนเพื่อให้ชั้นบนได้กำไร
เพราะหากไม่ขายก็จะไม่ได้เงิน และถึงแม้จะไม่หาดาวน์ไลน์ก็ไม่มีผลกระทบ
เพราะสามารถซื้อใช้เองก็ได้
ซึ่งรายได้ที่ได้จากการซื้อสินค้าใช้เองก็จะกลายเป็นส่วนลดสำหรับสมาชิกไป
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นการต้มตุ๋นหรือการลงทุนอย่างสุจริต?
การจะแยกการต้มตุ๋นออกจากการลงทุนอย่างสุจริตเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เช่นในกรณีของนายเบอร์นาร์ดนั้นแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญหรือกองทุนข้ามชาติก็ยังหลงกลได้จากการวางแผนและการปกปิดอย่างแนบเนียน
โดยมากมักจะลงมืออย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ในการระมัดระวังตัวจากการต้มตุ๋นก็สามารถทำได้หลายวิธี
เช่น
1.ระมัดระวังการลงทุนที่จำกัดเวลา
เหล่านักต้มตุ๋นมักจะทำการเสนอข้อเสนอที่ดูดีให้
ซึ่งพร้อมกันนั้นก็จะกดดันเพิ่มด้วยการบอกว่า
“เป็นข้อเสนอที่มีในช่วงเวลานี้เท่านั้น” เพื่อไม่ให้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือรู้สึกถึงความผิดปกติได้ทันเวลา
2.ระมัดระวังการลงทุนที่ดูดีเกินจริง
ไม่มีการลงทุนใดในโลกนี้ที่ไม่มีความเสี่ยง การบอกว่า “ไม่มีความเสี่ยง”
“มีแต่ได้” หรือการเสนอเงินตอบแทนที่สูงผิดปกติ
ล้วนแต่เป็นสัญญาณเตือนว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล
3.เอาใจใส่การลงทุน ดังที่เห็นในกรณีของนายเบอร์นาร์ด
การต้มตุ๋นไม่จำเป็นต้องเสนอผลตอบแทนที่ดูดีเสมอไป
เพียงแค่ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือก็มากเพียงพอ
จุดสังเกตเดียวที่พอจะเห็นได้ก็คือการจ่ายเงินปันผลที่คงที่และตรงเวลาอย่างผิดธรรมชาติเท่านั้น
จำไว้ว่าเงินที่ได้จากการลงทุนจะแปรปรวนตามสภาพตลาดการเงินในขณะนั้น
4.ใส่ใจข้อมูล หากเป็นนักต้มตุ๋นที่มีฝีมือ
การหาข้อมูลอาจจะช่วยไม่ได้มากนัก
แต่ก็ยังช่วยลดความเสี่ยงได้มากกว่าการกระโดดเข้าหาโอกาสที่ดูดีทันทีโดยไม่คิดอะไรเลย
5.ลงทุนในหลายธุรกิจ
อย่าลงทุนลงในธุรกิจเดียวด้วยเงินทั้งหมด
เผื่อเส้นทางสำหรับหนีไว้ด้วยการลงทุนในหลายธุรกิจ
และลงทุนในธุรกิจที่ไว้ใจได้ด้วย
เพื่อไม่ให้สิ้นเนื้อประดาตัวหากตกเป็นเหยื่อของการต้มตุ๋น
6.ตรวจสอบให้ดีว่าธุรกิจนั้นขายสินค้า
หรือให้หาสมาชิกใหม่ หากได้เงินจากการหาดาวน์ไลน์แทนที่จะขายสินค้า
แสดงว่านั่นคือการต้มตุ๋น
7.ระวังการเข้าเป็นสมาชิกของการทำธุรกิจใด
ๆ การต้มตุ๋นแบบปิรามิดนั้นมักจะคิดค่าเข้าเป็นสมาชิกจำนวนมาก
รวมไปถึงค่าฝึกฝนการขาย ค่าชุดเริ่มต้น และค่าสมาชิกรายปี
ข้อมูลอ้างอิง
Thank you very much :-)
ตอบลบBlockmine เข้าข่ายมั้ยครับ ตอนนี้ตอนนี้มีปัญหามากๆเลย เหมือนต้องการระดมทุนจากคนใหม่มาจ่ายคนเก่า คนเก่าก็รอบริษัทที่จะจ่ายแต่ไม่ได้สักที
ตอบลบ